EQ ที่มีชื่อเต็มว่า Emotional Quotient หรือที่เรียกกันว่า E-Skills นั้นจริง ๆ แล้วหมายถึง ความสามารถที่จะเข้าใจ วิเคราะห์และใช้ความรู้สึกเกี่ยวกับอารมณ์ของตนเองและผู้อื่นได้นั่นเอง แล้วคนที่มี EQ ที่ดีหรือไม่ดีเป็นอย่างไร สังเกตได้ดังนี้
ลักษณะของผู้ที่มี EQ ที่ดี
1. สัมพันธ์ คือ จะเป็นคนที่มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี รู้จักสร้าง และรักษาสัมพันธ์ทีดีต่อตนเองและทุกคน
2. มั่นคง คือ จะเป็นคนที่รักษาอารมณ์ของตนเองได้เป็นปรกติอย่างรวดเร็ว แม้จะเผชิญกับความเครียด หรือแรงกดดันมาก ๆ ก็ตาม
3. ตรงเที่ยง คือ เป็นคนที่มีความเป็นกลาง และยุติธรรม
4. เรียงร้อย คือ เป็นคนที่ใช้คำพูดที่อ่อนโยนกับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนเหนือกว่า เสมอกัน หรือด้อยกว่าก็ตาม
5. ค่อยคิด คือ เป็นคนที่คิดก่อนพูด และแสดงอารมณ์ได้อย่างถูกกาลเทศะ แบบสมวัย สมตำแหน่ง
6. จิตสูง คือ เป็นคนที่มีจิตใจสงบ นิ่ง เย็น และยังเป็นคนที่สามารถอ่านความรู้สึกและความต้องการของผู้อื่นได้รวดเร็ว และถูกต้อง
7. จูงใจ คือ เป็นคนที่สามารถโน้มน้าวคนอื่นโดยไม่ต้องใช้อำนาจ และ
8. ไม่เครียด คือ เป็นคนที่สามารถสร้างและใช้อารมณ์ขันได้อย่างมีไหวพริบและถูกกาลเทศะ
ลักษณะของผู้ที่มีปัญหาด้าน EQ
1. ผิดไม่เป็น คือ เป็นคนที่ไม่เคยเชื่อว่าตนเองผิด หรือทำผิดไม่เป็น แม้ว่าตนเองจะทำผิดก็ไม่เคยรู้จักขอโทษหรือยอมรับผิด
2. เน้นบริวาร คือ เป็นคนที่ชอบให้คนมาห้อมล้อม หรือชอบมีคนที่เรียกว่า “ลูกขุนพลอยพยัก” ที่ไม่กล้าขัดใจนาย มาอยู่ข้าง ๆ เพื่อทำให้ตนเองรู้สึกดียิ่งขึ้น
3. เชี่ยวชาญหมด คือ เป็นคนที่ชอบมองตนเองว่า “ดีเลิศประเสริฐศรี” เก่งเป็นอัจฉริยะในทุกทาง ทุกเรื่องที่ตนเองพูด ตนว่าอะไรทุกคนต้องฟัง และ
4. ชอบกดขี่ คือ เป็นคนที่พูดจาไม่ค่อยเข้าหูคน ใครได้ยินได้ฟัง ก็รู้สึกห่อเหี่ยวใจ ใช้พระเดชเข้ากำกับควบคุมคน แสดงอาการดูถูกคน ชอบทำให้คนอื่นรู้สึกเสียหน้าหรือต่ำต้อย
ในทางจิตวิทยาเชื่อว่า อีคิวหรือความฉลาดทางอารมณ์เป็นสิ่งที่พัฒนาได้ แดเนียล โกลแมน ผู้เขียนเรื่อง ความฉลาดทางอารมณ์ เสนอแนะวิธีการพัฒนาอารมณ์ไว้ 5 ประการ ดังนี้
1.รู้จักอารมณ์ตนเอง
การรู้จักอารมณ์ตนเอง จะเป็นพื้นฐานในการควบคุมอารมณ์เพื่อแสดงออกอย่างเหมาะสม การรู้จักอารมณ์ตนเองก็คือ การรู้ตัว หรือการมีสติในทรรศนะของพุทธศาสนา นั่นเอง
ทำอย่างไรให้รู้เท่าทันอารมณ์ตนเอง?
ทบทวน ถ้ารู้สึกว่าที่ผ่านมาเรามีปัญหาในการแสดงอารมณ์ ลองให้เวลาทบทวนอารมณ์ด้วยใจที่เป็น กลาง ไม่เข้าข้างตนเองว่าเรามีลักษณะอารมณ์อย่างไร เรามักแสดงออกในรูปแบบไหน แล้วรู้สึกพอใจ ไม่พอใจอย่างไร คิดว่าเหมาะสมหรือไม่ต่อการแสดงอารมณ์ในลักษณะนั้น ๆ
ฝึกสติ ฝึกให้มีสติและรู้ตัวอยู่เสมอว่าขณะนี้เรากำลังรู้สึกอย่างไรกับตัวเองหรือต่อสิ่งที่เกิดขึ้นรอบ ๆ ตัว สบายใจ ไม่สบายใจ แล้วลองถามตัวเองว่าเราคิดอย่างไรกับความรู้สึกและความคิดนั้น ความรู้สึกนั้นมีผลอย่างไรกับการแสดงออกของเรา
2.จัดการกับอารมณ์ตนเองได้
การจัดการกับอารมณ์ตนเองได้ หมายถึง ความสามารถในการควบคุมอารมณ์และสามารถแสดงออกไปได้อย่างเหมาะสมกับกาลเทศะ แต่การที่เราจะจัดการกับอารมณ์ได้อย่างเหมาะสมหรือไม่เพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับความสามารถในการควบคุมอารมณ์
เทคนิคการจัดการกับอารมณ์ตนเอง
ทบทวน ว่ามีอะไรบ้างที่เราทำลงไป เพื่อตอบสนองอารมณ์ที่เกิดขึ้น และพิจารณาว่าผลที่ตามมาเป็นอย่างไร เตรียมการในการแสดงอารมณ์ ฝึกสั่งตัวเองว่า จะทำอะไรและจะไม่ทำอะไร ฝึกรับรู้ในสิ่งที่เกิดขึ้น หรือที่เราต้องเกี่ยวข้องในด้านดี ทำอารมณ์ให้แจ่มใส ไม่เศร้าหมอง สร้างโอกาสจากอุปสรรค หรือหาประโยชน์จากปัญหา โดยการเปลี่ยนมุมมอง เช่น คิดว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคือ ความท้าทายที่จะทำให้เราพัฒนายิ่งขึ้น เป็นต้น
ฝึกผ่อนคลายความเครียด โดยเลือกวิธีที่เหมาะกับตนเอง เช่น ออกกำลังกาย นั่งสมาธิ เดินจงกรม เล่นดนตรี ปลูกต้นไม้ เป็นต้น
3.สร้างแรงจูงใจให้ตนเอง
การมองหาแง่ดีของเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งจะช่วยให้เราเกิดความเชื่อมั่นว่าสามารถเผชิญกับเหตุการณ์นั้นได้ และทำให้เกิดกำลังใจที่ก้าวไปสู่เป้าหมายที่วางไว้
เทคนิคการสร้างแรงจูงใจให้กับตนเอง
-ทบทวนและจัดอันดับสิ่งสำคัญในชีวิต โดยให้จัดอันดับความต้องการ ความอยากได้ อยากมี อยากเป็นทั้งหลายทั้งปวง แล้วพิจารณาว่าการที่เราจะบรรลุสิ่งที่ต้องการนั้นเรื่องไหนที่พอเป็นได้ เรื่องไหนที่ไม่น่าจะเป็นไปได้
-ตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน เมื่อได้ความต้องการที่มีความเป็นไปได้แล้ว ก็นำมาตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน เพื่อวางขั้นตอนการปฏิบัติที่จะมุ่งไปสู่จุดหมายนั้น ๆ
-มุ่งมั่นต่อเป้าหมาย ในการปฏิบัติเพื่อบรรลุถึงความฝัน ความต้องการของตนเอง ต้องระวังอย่าให้มีเหตุการณ์ใดมาทำให้เราเกิดความไขว้เขวออกนอกทางที่ตั้งไว้
-ลดความสมบูรณ์แบบ ต้องทำใจยอมรับได้ว่าสิ่งที่เราตั้งใจไว้อาจจะมีความผิดพลาดเกิดขึ้นได้ หรือไม่เป็นดังที่เราคาดหวัง 100 เปอร์เซ็นต์ การทำใจยอมรับความบกพร่องได้จะช่วยให้เราไม่เครียด ไม่ทุกข์ ไม่ผิดหวังมากจนเกินไป
-ฝึกมองหาประโยชน์จากอุปสรรค เพื่อสร้างความรู้สึกดี ๆ ที่จะเป็นพลังให้เกิดสิ่งดี ๆ อื่น ๆ ต่อไป
-ฝึกสร้างทัศนคติที่ดี หามุมมองที่ดีในเรื่องที่เราไม่พอใจ (แต่ไม่สามารถแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงได้) มองปัญหาให้เป็นความท้าทายที่เราจะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เพื่อสร้างพลังและแรงจูงใจให้ผ่านพ้นปัญหานั้น ๆ ไปได้
-หมั่นสร้างความหมายในชีวิต ด้วยการรู้สึกดีต่อตัวเอง นึกถึงสิ่งที่สร้างความภูมิใจและพยายามใช้ความสามารถที่มี ทำประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น แม้ว่าจะเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้กำลังใจตนเอง คิดอยู่เสมอว่าเราทำได้ เราจะทำและลงมือทำ
4.รู้อารมณ์ผู้อื่น
การรู้และเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของผู้อื่น และสามารถแสดงอารมณ์ตนเองตอบสนองได้อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะกับคนที่เราเกี่ยวข้องสัมพันธ์ด้วยจะช่วยให้เราสามารถอยู่ร่วมหรือทำงานด้วยกันได้อย่างดีและมีความสุขมากขึ้น
เทคนิคการรู้อารมณ์ผู้อื่น
ให้ความสนใจในการแสดงออกของผู้อื่น โดยการสังเกตสีหน้า แววตา ท่าทาง การพูด น้ำเสียง ตลอดจนการแสดงออกอื่น ๆ อ่านอารมณ์ความรู้สึกของผู้อื่น จากสิ่งที่สังเกตเห็นว่า เขากำลังมีความรู้สึกใด โดยอาจตรวจสอบว่าเขารู้สึกอย่างนั้นจริงหรือไม่ด้วยการถาม แต่วิธีนี้ควรทำในสถานการณ์ที่เหมาะสม เพราะมิฉะนั้นอาจดูเป็นการวุ่นวาย ก้าวก่ายเรื่องของผู้อื่นได้ ทำความเข้าใจอารมณ์และความรู้สึกของบุคคล เรียกว่าเอาใจเขามาใส่ใจเราว่าถ้าเราเป็นเขา เราจะรู้สึกอย่างไรจากสภาพที่เขาเผชิญอยู่
5.รักษาสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน
การมีความรู้สึกที่ดีต่อกันจะช่วยลดความขัดแย้ง และช่วยให้การอยู่ร่วมกันเป็นไปอย่างราบรื่นพร้อมที่จะสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นประโยชน์
เทคนิคในการสร้างสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน
-ฝึกการสร้างความรู้สึกที่ดีต่อผู้อื่น ด้วยการเข้าใจ เห็นใจความรู้สึกของผู้อื่น
-ฝึกการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ ด้วยการสร้างความเข้าใจที่ตรงกัน ฝึกการเป็นผู้พูดและผู้ฟังที่ดี และไม่ลืมที่จะใส่ใจในความรู้สึกของผู้ฟังด้วย
-ฝึกการแสดงน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ รู้จักการให้และรับ
-ฝึกการให้เกียรติผู้อื่นอย่างจริงใจ รู้จักยอมรับในความสามารถของผู้อื่น
-ฝึกการแสดงความชื่นชม ให้กำลังใจซึ่งกันและกันตามวาระที่เหมาะสม
แค่นี้คุณก็สามารถพัฒนา อีคิว ของตัวเองได้ และเข้าใจคนอื่นมากขึ้น
อ่านบทความแล้ว ตัวผู้เขียนบล็อกเองก็ว่าจะลองนำไปปฏิบัติดู แต่ไม่รู้ว่าจะทำได้แค่ไหน แต่ไม่ลองก็ไม่รู้ จริงไหมคะทุึกท่าน ^ ^ (พออยู่ในสถานการณ์จริง ชอบลืมคำว่า EQ ทุกที อิ อิ)
http://www.thaihealth.or.th (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) )
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น