ในบทความที่แล้ว เราได้นำเรื่องคุมกำเนิด scope คร่าว ๆ มาฝาก วันนี้ เรามาศึุกษา้ข้อมูลในแนวลึกกันต่อดีกว่าค่ะ ว่า การคุมกำเนิดชั่วคราว มีอะไรบ้างนะ ลองเข้ามาอ่านกันเลยจ้า ^ ^
ชนิดของการคุมกำเนิดชั่วคราว
1.ถุงยางอนามัยบุรุษ
ผลิตจากยางลาเทค (Latex) หรือบางชนิดผลิตจากยางเทียม (Polyurethane)
มีกลไก คือ การสวมใส่ที่องคชาตเพศชายขณะแข็งตัว เป็นการป้องกันไม่ให้เชื้ออสุจิเข้าสู่โพรงมดลูกเพื่อปฏิสนธิกับไข่ ทำให้ไม่มีการตั้งครรภ์ ซึ่งพบอัตราการตั้งครรภ์หลังใช้ ประมาณ 2-15%
ข้อดี: หาซื้อได้ง่าย ไม่มีความเกี่ยวข้องกับระดับฮอร์โมนในร่างกาย สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้
ข้อเสีย: ต้องอาศัยความร่วมมือของฝ่ายชาย อาจขัดจังหวะการร่วมเพศ มีโอกาสที่จะแตกรั่วได้ ถุงยางชนิด Latex ไม่สามารถใช้กับวัสดุหล่อลื่นที่มีส่วนผสมของน้ำมันเพราะจะทำให้เพิ่มโอกาสเกิดการรั่วการแตกของถุงได้ และต้องใช้ทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
2.ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม
เป็นวิธีคุมกำเนิดที่แพร่หลาย มีผู้นิยมใช้มากที่สุด มีความสะดวกในการใช้
ประกอบด้วย ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และโปรเจสติน (Progestin)
มีกลไกคือ ยับยั้งการตกไข่ ทำให้มูกที่ปากมดลูกเหนียวข้น ทำให้อสุจิไม่สามารถผ่านเข้าสู่โพรงมดลูกได้ และทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกบางไม่เหมาะสมต่อการฝังตัวของตัวอ่อน ซึ่งพบอัตราการตั้งครรภ์หลังใช้ได้ประมาณ 0.3-8%
ข้อดี: ทำให้ประจำเดือนมาสม่ำเสมอ ลดปริมาณเลือดประจำเดือน ลดอาการปวดประจำเดือน นอกจากนั้น เมื่อหยุดใช้ยังสามารถตั้งครรภ์ได้ในระยะเวลาอันสั้น
ข้อเสีย: ไม่เหมาะกับผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกิน อายุมากกว่า 35 ปีที่สูบบุหรี่ (เพิ่มปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ) ผู้ที่มีข้อห้ามใช้ฮอร์โมน และอาจพบผลข้างเคียง เช่น เลือดออกทางช่องคลอดกะปริดกะปรอย และคัดตึงเต้านม
3.ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดโปรเจสตินอย่างเดียว
ประกอบด้วยฮอร์โมนโปรเจสตินเพียงชนิดเดียว
มีกลไกคือ ทำให้มูกที่ปากมดลูกเหนียวข้น อสุจิไม่สามารถเคลื่อนผ่านเข้าสู่โพรงมดลูกได้ และทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกบางตัวไม่เหมาะสมต่อการฝังตัวของตัวอ่อน ซึ่งพบอัตราการตั้งครรภ์หลังใช้ยาได้ประมาณ 0.3-8%
ข้อดี: สามารถใช้ในผู้ที่กำลังให้นมบุตรได้ เนื่องจากไม่มีผลต่อปริมาณและคุณภาพของน้ำนม สามารถใช้ในผู้ที่มีข้อห้ามต่อการใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจน และสามารถใช้ในผู้ที่มีอายุมากกว่า 35 ปีที่สูบบุหรี่ได้
ข้อเสีย: ต้องรับประทานยาในเวลาเดิมทุกวัน หากรับประทานผิดเวลาไป 3 ชั่วโมงต้องใช้วิธีคุมกำเนิดอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น การใช้ถุงยางอนามัย ขณะใช้ยาจะไม่มีประจำเดือน แต่อาจมีเลือดออกกะปริดกะปรอยได้
4.ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉิน
ประกอบด้วยฮอร์โมนโปรเจสตินในขนาดสูง
มีกลไกคือ โดยป้องกันหรือเลื่อนเวลาการตกไข่ ขัดขวางการฝังตัวของตัวอ่อน โดยเป็นยาที่ใช้รับประทานหลังมีเพศสัมพันธ์ ในกรณีที่ลืมคุมกำเนิดหรือเกิดเหตุไม่คาดฝันขณะมีเพศสัมพันธ์ เช่น ถุงยางอนามัยรั่วหรือแตกได้ผลดีที่สุดถ้ารับประทานหลังมีเพศสัมพันธ์ทันทีหรือในเวลาไม่เกิน 72-120 ชั่วโมง พบมีอัตราการตั้งครรภ์หลังใช้ ประมาณ 25%
5.แผ่นแปะคุมกำเนิด
ประกอบด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสติน
มีกลไก คือ เช่นเดียวกับยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม
พบอัตราการตั้งครรภ์หลังใช้ 0.3-8%
วิธีใช้: แปะแผ่นคุมกำเนิดที่ผิวหนังบริเวณที่มีไขมัน ยกเว้นบริเวณเต้านม โดย 1 แผ่น แปะนาน 1 สัปดาห์ จากนั้นจึงเปลี่ยนแผ่น โดยแปะ 3 แผ่น (นาน 3 สัปดาห์) แล้วเว้น 1 สัปดาห์ โดยสัปดาห์ที่เว้นไม่แปะแผ่นยา จะมีประจำเดือนมา โดยขณะแปะแผ่นยา สามารถทำกิจกรรมอาบน้ำ ว่ายน้ำได้ปกติ
ข้อดี: ใช้การดูดซึมจากผิวหนังไม่ต้องผ่านการเปลี่ยนรูปของฮอร์โมนที่ตับ จึงลดโอกาสเกิดผลข้างเคียงต่อตับ นอกจากนั้น ยังทำให้ประจำเดือนมาสม่ำเสมอทุกเดือน ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งรังไข่ โรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก และเมื่อหยุดใช้สามารถตั้งครรภ์ได้ในระยะเวลาอันสั้น
6.ยาฉีดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม
เป็นยาฉีดคุมกำเนิดที่ประกอบด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสติน มีกลไกป้องกันการตั้งครรภ์ เช่นเดียวกับยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม
ข้อดี: มีประจำเดือนมาทุกเดือน ใช้ยาเพียงเดือนละ 1 ครั้ง จึงลดโอกาสลืมกินยา และไม่ต้องพกพายาไปไหนมาไหนด้วย
ข้อเสีย: ต้องได้รับการฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อบริเวณก้น โดยบุคลากรทางการแพทย์ และห้ามใช้ในสตรีที่มีข้อห้ามต่อฮอร์โมนเอสโตรเจน
7.ยาฉีดคุมกำเนิดชนิดโปรเจสตินอย่างเดียว
เป็นยาฉีดที่ประกอบด้วยฮอร์โมนโปรเจสตินอย่างเดียว
มีกลไก คือ ยับยั้งการตกไข่ นอกจากนั้น ยังทำให้มูกที่ปากมดลูกเหนียวข้น อสุจิจึงไม่สามารถเคลื่อนผ่านเข้าโพรงมดลูกได้ และทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกบางไม่เหมาะต่อการฝังตัวของตัวอ่อน
พบอัตราการตั้งครรภ์หลังใช้ยาได้ประมาณ 0.3-8%
ข้อดี: ใช้เพียง 4 ครั้งต่อปี โดยฉีดยาทุก 3 เดือน ไม่ต้องพกพายาคุมกำเนิดติดตัว สามารถใช้ในผู้ที่มีข้อห้ามต่อการใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจน สามารถใช้ในผู้ที่มีอายุมากกว่า 35 ปีที่สูบบุหรี่ และยามีราคาถูก
ข้อเสีย: มีผลข้างเคียงทำให้เลือดออกทางช่องคลอดกะปริดกะปรอย เมื่อใช้ไปนาน ๆ อาจไม่มีประจำเดือน อาจมีผลทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นจากการคั่งของเกลือและน้ำในร่างกาย และต้องได้รับการฉีดเข้ากล้ามเนื้อที่บริเวณก้นจากบุคลากรทางการแพทย์
8.ยาฝังคุมกำเนิด
ในปัจจุบันมีเฉพาะยาฝังคุมกำเนิดชนิดที่มีฮอร์โมนโปรเจสติน อย่างเดียว
มีกลไก คือ คล้ายกับยาเม็ดชนิดที่มีฮอร์โมนโปรเจสตินอย่างเดียว
พบอัตราการตั้งครรภ์หลังใช้ยาประมาณ 0.05%
วิธีการฝังยาทำโดยกรีดผิวหนังบริเวณท้องแขนข้างที่ไม่ถนัดขนาดประมาณ 2 มิลลิเมตร จากนั้นใช้อุปกรณ์สอดเข้าสู่ชั้นใต้ผิวหนัง แล้วใส่แท่งยาตาม ไม่ต้องเย็บแผลเนื่องจากแผลมีขนาดเล็ก ให้ใช้ผ้าพันบริเวณแผลไว้อย่างน้อย 24 ชั่วโมง ระวังไม่ให้แผลถูกน้ำเป็นเวลา 7 วัน
ข้อดี: สามารถคุมกำเนิดได้ 3-5 ปี สามารถใช้ในผู้ที่มีข้อห้ามต่อการใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจน และสามารถใช้ในผู้ที่มีอายุมากกว่า 35 ปีที่สูบบุหรี่
ข้อเสีย: ต้องได้รับการฝังยาจากบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับการฝึกฝนมา มีหลักฐานการคุมกำเนิดโดยสามารถคลำแท่งยาได้ที่บริเวณท้องแขน อาจพบภาวะแทรกซ้อนจากการฝังยา เช่น มีก้อนเลือดคั่งบริเวณที่กรีดผิวหนัง และอาจพบว่า ตำแหน่งของแท่งยาเคลื่อนไปจากตำแหน่งเดิม
9.ห่วงคุมกำเนิดชนิดทองแดง
เป็นอุปกรณ์พลาสติกที่มีขดลวดทองแดงพัน โดยการใส่เข้าสู่โพรงมดลูก
มีกลไก คือ ลดการเคลื่อนที่ของตัวอสุจิทำให้เกิดการปฏิสนธิกับไข่ได้ลำบาก ร่วมกับทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกไม่เหมาะต่อการฝังตัวของตัวอ่อน ระยะเวลาในการคุมกำเนิด 3, 5, หรือ 10 ปี ขึ้นอยู่กับชนิดของห่วงคุมกำเนิด ระยะเวลาที่เหมาะสมต่อการใส่ห่วงคุมกำเนิดคือ ช่วงวันที่ 1-5 ของการมีประจำเดือน เนื่องจากแน่ใจได้ว่า ช่วงนี้ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ และเป็นช่วงใส่ห่วงได้ง่ายเนื่องจากปากมดลูกเปิด
พบอัตราตั้งครรภ์หลังใช้ ประมาณ 0.6-0.8%
ข้อดี: สามารถคุมกำเนิดได้เป็นเวลานาน เมื่อต้องการตั้งครรภ์สามารถดึงห่วงคุมกำเนิดออกได้ทันที ไม่มีผลต่อระดับฮอร์โมนในร่างกาย เหมาะสำหรับผู้ที่มีข้อห้ามในการใช้ฮอร์โมน ผู้ใช้จะมีประจำเดือนทุกเดือนตามปกติ และมีรายงานว่า อาจช่วยลดอัตราการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูก
ข้อเสีย: ต้องได้รับการใส่จากบุคลากรทางการแพทย์ เหมาะสำหรับผู้ที่เคยคลอดบุตร ต้องทำการตรวจสายห่วงด้วยตนเองทุกเดือน ไม่เหมาะสำหรับผู้ที่มีคู่นอนหลายคนหรือกำลังเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เพราะเพิ่มโอกาสติดเชื้อให้สูงและรุนแรงขึ้น อาจมีผลข้างเคียง คือ อาการปวดหน่วงท้อง น้อย และเลือดออกทางช่องคลอดกะปริดกะปรอย
10.ห่วงคุมกำเนิดชนิดมีฮอร์โมนโปรเจสติน
เป็นวัสดุพลาสติกที่มีแท่งยาฮอร์โมนโปรเจสติน โดยแท่งยาจะค่อย ๆ ปล่อยฮอร์โมนโปรเจสตินเข้าสู่ร่างกายทีละน้อย ๆ มีระยะเวลาในการคุมกำเนิด 5 ปี ระยะเวลาที่เหมาะสมสำหรับการใส่ห่วงคุมกำเนิด เช่นเดียวกับห่วงคุมกำเนิดชนิดทองแดง
มีกลไก คือ ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกบางไม่เหมาะต่อการฝังตัวของตัวอ่อน ขัดขวางการฝังตัวอ่อน มูกที่ปากมดลูกเหนียวข้นทำให้อสุจิไม่สามารถปฏิสนธิกับไข่ได้
พบอัตราการตั้งครรภ์หลังใช้วิธีนี้ ประมาณ 0.1%
ข้อดี: เนื่องจากมีฮอร์โมนโปรเจสติน จึงสามารถช่วยลดปริมาณเลือดประจำเดือน อาจช่วยบรรเทาอาการปวดประจำเดือน ช่วยลดขนาดของเนื้องอกมดลูก(ถ้ามีเนื้องอกมดลูกอยู่) เมื่อใส่ห่วงในขณะอายุ 45 ปี สามารถใช้คุมกำเนิดจนถึงวัยหมดระดูได้ สามารถใช้ในผู้ที่มีข้อห้ามใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจน ฤทธิ์ของฮอร์โมนโปรเจสติน เป็นการออกฤทธิ์เฉพาะที่ ไม่ผ่านร่างกายทั้งระบบ
ข้อเสีย: มีราคาแพง ต้องได้รับการใส่ห่วงนี้จากบุคลากรทางการแพทย์ ต้องทำการตรวจสายห่วงด้วยตนเองทุกเดือน ไม่เหมาะกับผู้ที่มีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หรือมีคู่นอนหลายคน อาจมีอาการข้างเคียง เช่น ปวดหน่วงท้องน้อย และเลือดออกกะปริดกะปรอย
11.วงแหวนคุมกำเนิด
เป็นวงแหวนพลาสติก ซึ่งจะค่อย ๆ ปล่อยฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสตินเข้าสู่ร่างกายทีละน้อย ๆ
มีกลไก คือ คล้ายกับยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม
ข้อเสีย: ยังไม่มีจำหน่ายในประเทศไทย อาจมีการระคายเคืองช่องคลอด อาจจะเพิ่มการติดเชื้อในช่องคลอด มีตกขาวมากขึ้น อาจเกิดเลือดออกทางช่องคลอดกะปริดกะปรอย และคัดตึงเต้านม
อย่าลืม !! ติดตาม คาถากันพลาดกันต่อใน episode III (เมื่่อดิฮั๊นมีเวลา) นะจ๊ะ ^ ^
Thank;http://haamor.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น