เว็บหนัง พร้อมสาระและความบันเทิงครบครัน
เว็บที่ให้ได้ มากกว่าที่คุณคิด
เว็บอาจโดนบล็อค โปรดกด Like Fanpage เพื่อติดตามที่อยู่เว็บ
ขณะนี้เว็บกำลังปรับปรุง ขออภัยท่านผู้เข้าชม ในความไม่เป็นระเบียบของรูปแบบเว็บด้วยนะคะ ^ ^

ค้นหาส่ิ่งที่คุณสนใจได้เลยจ้า

เพลงแนะนำ ตามกระแส


วันอาทิตย์ที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2556

หายขาดไหมนะ เจ้าโรคเก๊าท์เนี่ย ???

เกา เก่า เก้า เก๊าท์ ใช่แล้วละคะ วันนี้เรามีเรื่องเกี่ยวกับ "โรคเก๊าท์" มาฝากท่านผู้อ่านค่ะ ยิ่งอายุมากขึ้นตัวเจ้าของบล็อกเริ่มมีอาการปวดเมื่อย ปวดข้อและตามร่างกาย  จึงเกิดคำถามในใจว่า เอ....เราเป็นโรคเก๊าท์รึเปล่าหว่า ??? เอ...ถ้าเราเป็นเก๊าท์เราต้องรักษาตัวอย่างไรดีนะ งั้นเรามาหาคำตอบกันในบทความนี้กันเลยจ้า..














โรคเก๊าท์ คืออะไร ?


โรคเก๊าท์ เป็นโรคที่เกิดจากการสะสมของกรดยูริคในร่างกายเป็นระยะเวลานาน จนเกิดการตกผลึกของเกลือยูเรตในข้อ และเกิดข้ออักเสบตามมาในที่สุด

ในคำกล่าวทั่ว ๆ ไปคำว่าโรคเก๊าท์มักหมายถึง โรคข้ออักเสบเก๊าท์ (รูปที่ 1) 


รูปที่ 1


แต่ความจริงแล้วผลึกของเกลือยูเรตยังอาจสะสมในอวัยวะอื่น ๆ นอกเหนือจากข้อได้ด้วย เช่น สะสมที่ผิวหนัง เรียกว่า ปุ่มก้อนโทฟัส (รูปที่ 2) หากสะสมที่ไตจะทำให้เกิดนิ่วในไตหรือไตวายเรื้อรังได้


รูปที่ 2

สำหรับคนที่มีระดับกรดยูริคในเลือดมากกว่า 7 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร แต่ไม่มีข้ออักเสบ ไม่มีปุ่มปมของเก๊าท์ที่เรียกว่า โทฟัส และไม่มีนิ่วทางเดินปัสสาวะ เราไม่เรียกว่าเป็นโรคเก๊าท์ แต่เรียกว่าเป็นบุคคลที่ระดับกรดยูริคสูงชนิดไม่มีอาการ และระดับกรดยูริคในเลือดสูงเพียงอย่างเดียวมิได้หมายความว่าผู้ป่วยจะต้องเป็นโรคเก๊าท์เสมอไป มีสาเหตุอื่น ๆ มากมายที่ทำให้ตรวจพบระดับกรดยูริคในเลือดสูงโดยที่ผู้ป่วยมิได้เป็นโรคเก๊าท์

โรคเก๊าท์มีอาการอย่างไร ?

ในระยะแรก ๆ ผู้ป่วยจะมีข้ออักเสบเฉียบพลันเกิดขึ้นเป็น ๆ หาย ๆ เกิดอักเสบขึ้นทีละข้อ โดยทั่วไปเริ่มจากข้อที่บริเวณเท้าก่อน เช่น ข้อโคนหัวแม่เท้า ข้อกลางเท้า ข้อเท้าและบริเวณเส้นเอ็นร้อยหวาย เป็นต้น ต่อมาหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง จะเกิดการอักเสบลามไปที่ข้ออื่น เช่น ข้อเข่า ข้อมือ ข้อศอกและข้อนิ้วมือได้ในระยะหลัง ๆ ต่อมาหากยังคงไม่ได้รับการรักษาจนเกิดการอักเสบที่ข้อขึ้นอีกอย่างต่อเนื่อง และรุนแรง คนไข้อาจมีไข้ร่วมด้วย ต่อมาจะเกิดปุ่มปมที่เกิดจากการสะสมของผลึกยูเรท (ปุ่มปมโทฟัส) ที่ข้อ และบริเวณใกล้ข้อ เช่น ที่ข้อศอก นิ้วมือ เอ็นร้อยหวาย ตาตุ่ม บริเวณเข่า ข้อต่าง ๆ จะเปลี่ยนรูปร่างและพิการ ซึ่งปุ่มปมโทฟัสไปเบียดข้อ ทำลายกระดูก และเนื้อเยื่อต่าง ๆ และมีผลให้ข้อเปลี่ยนรูปร่างไป กล้ามเนื้อต่าง ๆ ลีบเล็กลง จนเกิดการพิการถาวรได้ นอกจากนี้หากไม่ได้รับการรักษาหรือรักษาไม่ถูกต้องอาจทำให้เกิดภาวะไตวายเรื้อรังตามมาได้

โรคเก๊าท์รักษาให้หายขาดได้หรือไม่ 

โรคเก๊าท์ เป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ คือ ไม่มีการอักเสบของข้อซ้ำอีก เพียงแต่ผู้ป่วยจะต้องหยุดสุราให้ได้ รับประทานยาที่แพทย์สั่งอย่างต่อเนื่อง และมาตรวจตามนัดสม่ำเสมอ ในการมาตรวจแต่ละครั้งแพทย์จะตรวจเลือดเพื่อติดตามระดับกรดยูริคในเลือดเพื่อช่วยในการปรับยาลดกรดยูริค รวมทั้งเฝ้าระวังผลข้างเคียงจากยา

ใครบ้างที่มีโอกาสเป็นโรคเก๊าท์

  • โรคนี้พบได้ในเพศชายมากกว่าเพศหญิง โดยทั่วไปก็พบเมื่ออายุมากกว่า 30 ปี ในเพศหญิงส่วนมากก็จะพบแต่ในวัยหมดประจำเดือน 
  • พันธุกรรม พบโรคเก๊าท์นี้มากในสายเลือดเดียวกัน เช่น พี่เป็น น้องเป็น และพ่อเป็น ลูกเป็น 
  • คนอ้วนมีโอกาสเป็นได้มากกว่าคนผอม 
  • คนที่มีพฤติกรรมในการดื่มแอลกอฮอล์ ไวน์หรือเบียร์เป็นประจำก็มีโอกาสเป็นโรคเก๊าท์ได้บ่อยกว่าคนที่ไม่มีความประพฤตินี้ เพราะแอลกอฮอล์ทำให้ร่างกายสร้างกรดยูริคขึ้นมามากกว่าปกติ 
  • ผู้ที่กินยาแอสไพริน(aspirin) ยาขับปัสสาวะ(diuretic) ยารักษาวัณโรค(anti-tuberculosis drug) เช่น ไพราซินนาไมด์(pyrazinamide)หรืออีแธมบูทอล(ethambutol) จะทำให้ระดับกรดยูริคในเลือดสูงและทำให้เกิดโรคเก๊าท์ได้บ่อย เนื่องจากยาเหล่านี้ไปลดการขับถ่ายกรดยูริคออกทางไต ทำให้เกิดการคั่งของกรดยูริคในเลือด จะทำให้ระดับของกรดยูริคในเลือดสูง 
  • ผู้ป่วยโรคเลือดบางชนิด โรคมะเร็งโดยเฉพาะมะเร็งต่อมน้ำเหลือง หรือผู้ที่ได้รับเคมีบำบัดจะทำให้เซลล์ถูกทำลายมากอย่างรวดเร็ว จะทำให้ระดับกรดยูริคในเลือดสูงมาก ๆ ได้ ทำให้เกิดโรคเก๊าท์ข้ออักเสบ นิ่วไต หรือแม้แต่ตัวกรดยูริคเองไปอุดตันตามท่อเล็ก ๆ ในเนื้อไตทำให้เกิดไตวายได้ 
การรักษา
  • กรณีผู้ป่วยมีระดับกรดยูริคในเลือดสูงมากกว่า 7 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร แต่คนไข้ไม่มีอาการใด ๆ แพทย์จะพยายามดูว่ามีสาเหตุมาจากอย่างอื่นได้ไหม เช่น จากยาบางชนิด แพทย์อาจจะเพียงแต่ติดตามเฝ้าดูต่อไปแต่ยังไม่ให้การรักษา
  • กรณีผู้ป่วยมีระดับกรดยูริคในเลือดสูง 9-10 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร แต่ยังไม่มีอาการใด ๆ แพทย์จะเฝ้าติดตามใกล้ชิด และบอกกล่าวเตือนผู้ป่วยปรัีบพฤติกรรมการรับประทาน เช่น งดการดื่มสุรา เบียร์ ไวน์ และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และงดหรือจำกัดการรับประทานอาหารที่มีปริมาณพิวรีน ซึ่งสารพิวรีนเป็นสารตั้งต้นในการผลิตกรดยูริค อาหารที่มีสารพิวรีนสูง ได้แก่

ไข่ปลา
กระถิน
หัวใจไก่
น้ำสกัดเนื้อ
ปลาดุก
ชะอม
ตับไก่
น้ำต้มกระดูก
ปลาไส้ตัน
กะปิ
กึ๋นไก่
น้ำซุปต่างๆ
ปลาอินทรีย์
มันสมองวัว
เซ่งจี้หมู
ซุปก้อน
ปลาซาร์ดีน
เนื้อไก่,เป็ด
ตับหมู
ยีสต์
กุ้งชีแฮ
ห่าน
ไต
เห็ด
หอย
ถั่วแดง
ตับอ่อน
ถั่วดำ
ถั่วเขียว
ถั่วเหลือง
  • กรณีผู้ป่วยมีกรดยูริคสูง และมีนิ่วหรือนิ่วในทางเดินปัสสาวะ ผู้ป่วยสมควรได้รับยาลดกรดยูริค ชนิดอัลโลพิวรีนอล เพราะจะไปลดการสร้างกรดยูริค ทำให้กรดยูริคออกมาทางปัสสาวะน้อยลง และผู้ป่วยควรดื่มน้ำมาก ๆ ด้วย จะทำให้ลดอัตราการเกิดนิ่วหรือป้องกันการเป็นซ้ำได้
  • กรณีผู้ป่วยมีระดับกรดยูริคในเลือดสูงมากกว่าหรือเท่ากับ 11 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร แพทย์บางท่านจะแนะนำให้เริ่มรักษาโดยให้ยาอัลโลพิวรีนอล เพราะโอกาสเป็นนิ่วทางเดินปัสสาวะสูง 
ยารักษาโรคเก๊าท์

ระยะข้ออักเสบเฉียบพลัน ในระยะที่มีข้ออักเสบกำเริบอย่างเฉียบพลันควรพักใช้ข้อ ยกข้อให้สูงและ

ประคบข้อด้วยน้ำแข็ง(ice pack) ควรเริ่มยาต้านการอักเสบให้เร็วที่สุดและหยุดยาเมื่อข้อหายอักเสบแล้ว โดยเลือกใช้
1.ยาโคลชิซีน(colchicine) และ/หรือ
2.ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์(non-steroidal anti-inflammatory drugs, NSAIDs)
3.ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid)
4.ยาแก้ปวดชนิดอื่น
สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยาลดกรดยูริคในเลือดอยู่แล้วก็ควรให้ยาในขนาดเดิมต่อไป ไม่ควรหยุดยาหรือเปลี่ยนแปลงขนาดของยาหรือเริ่มให้ยาลดกรดยูริคในเลือดในขณะที่ยังมีข้ออักเสบอยู่เพราะจะทำให้ข้ออักเสบหายช้า





1.ยาโึคลชิซีน (Colchicine)

ยานี้หากกินแต่เนิ่น ๆ จะป้องกันไม่ให้เกิดข้ออักเสบรุนแรงขึ้นแบบเต็มที่และทำให้หายปวดข้อได้เร็วมาก

ขนาดที่แนะนำ คือ 0.6 มิลลิกรัม วันละ 2-4 ครั้ง ไม่แนะนำให้ใช้ยาในขนาดสูงหรือรับประทานยาทุก 2 ชั่วโมงจนกระทั่งปวดข้อลดลง เนื่องจากจะทำให้เกิดท้องเสียได้บ่อย

ผลข้างเคียงที่พบบ่อย ได้แก่ ท้องเสีย ปวดท้อง คลื่นไส้ และอาเจียน 

2.ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs)

เช่น อินโดเมธาซิน(indomethacin) ไอบูโปรเฟน(ibuprofen) ไดโคลฟิแนค(diclofenac) นาปร๊อกเซน(naproxen) ไพร็อคซิแคม(piroxicam) ไนเมซูไรด์(nimesulide) เมล็อคซิแคม(meloxicam) ซีลีค็อกซิบ(celecoxib) เป็นต้น

ควรให้ในขนาดต้านการอักเสบจนกระทั่งหายจากอาการอักเสบ ส่วนใหญ่จะใช้เวลาไม่เกิน 7 วัน ยาทุกชนิดในกลุ่มนี้มีประสิทธิภาพของการรักษาเท่ากันแต่
  • ไม่ควรใช้ยาแอสไพริน (aspirin) เนื่องจากมีผลต่อระดับกรดยูริคในเลือด 
  • หลีกเลี่ยงการใช้ อินโดเมธาซิน (indomethacin) ในผู้สูงอายุเนื่องจากมักก่อให้เกิดอาการปวดศีรษะ ซึม และมีผลข้างเคียงในระบบทางเดินอาหารได้บ่อย
  • ควรหลีกเลี่ยง NSAIDs ในผู้ป่วยมีภาวะหัวใจวาย โรคตับและโรคไตทำงานบกพร่อง ไม่ควรใช้ NSAIDs มากกว่า 1 ชนิดร่วมกัน เพราะไม่ได้เพิ่มประสิทธิภาพของการรักษา แต่จะเพิ่มผลข้างเคียงให้มากขึ้น 
  • ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถรับประทานยาได้ เช่น ผู้ป่วยเกิดผลข้างเคียงในระบบทางเดินอาหาร อาจพิจารณาให้ NSAIDs ในรูปฉีดแทน
  • ในผู้ป่วยที่ปัจจัยเสี่ยงต่อผลข้างเคียงในระบบทางเดินอาหาร ควรให้ยา gastro-protective agent เช่น ซูคราลเฟท(sucralfate) ไมโซพรอสทอล(misoprostol) หรือ proton pump inhibitor เช่น โอมีพราโซล(omeprazole) แลนโซพราโซล (lansoprazole) ควบคู่ไปด้วยหรือพิจารณาให้ยาในกลุ่ม coxibs เช่น ซีลีค็อกซิบ(celecoxib) แทน
3.ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid)

จะใช้ในรายที่มีข้อห้ามในการให้ NSAIDs หรือโคลซิชิน เช่น มีภาวะไตวาย เลือดออกในทางเดินอาหาร หรือเมื่อไม่ตอบสนองต่อยาต้านการอักเสบตัวอื่น ยาสเตียรอยด์มีทั้งยากิน ยาฉีดเข้ากล้าม ยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำ และยาฉีดเข้าข้อ เป็นต้น

ขนาดคอร์ติโคสเตียรอยด์ที่ใช้รักษาการอักเสบเทียบเท่ากับขนาดของเพรดนิโซโลน 0.5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน เมื่ออาการดีขึ้นให้รีบลดขนาดยาลงโดยเร็ว
4.ยาแก้ปวดชนิดอื่น

เช่น ทรามาดอล(tramadol) และกลุ่มยาระงับปวดที่อยู่ในกลุ่มสารเสพติด (opiate analgesic) อาจช่วยบรรเทาอาการปวดอย่างรุนแรงในระยะสั้นได้ เมื่อใช้ควบคู่กับโคลซิชินหรือ NSAIDs 


ระยะปลอดอาการ (intercritical period) และระยะโรคเก๊าท์เรื้อรัง (chronic gout)



หลังจากข้ออักเสบเฉียบพลันทุเลาลง ผู้ป่วยโรคเก๊าท์ทุกรายควรได้รับการประเมินเพื่อแก้ไขปัจจัยเสี่ยงหรือปัจจัยกระตุ้นต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดภาวะกรดยูริกในเลือดสูง รวมทั้งประเมินความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนของโรคเก๊าท์ ได้แก่ การกำเริบของโรคข้ออักเสบ การเกิดปุ่มโทฟัสและโรคไต ทั้งนี้ก็เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการพิจารณาให้ยาลดระดับกรดยูริกในเลือดในระยะยาว

จุดมุ่งหมายในการให้ยาลดกรดยูริคในเลือด คือ การละลายผลึกเกลือยูเรตออกจากเนื้อเยื่อและป้องกันไม่ให้มีการตกผลึกเกลือยูเรตเพิ่มขึ้น โดยเป้าหมายคือ ระดับกรดยูริคอยู่ในระดับเท่ากับหรือต่ำกว่า 6 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ในกรณีอยู่ในระยะเรื้อรังที่มีก้อนโทฟัสแล้วอาจตั้งเป้าหมายลดระดับกรดยูริคในเลือดลงมาเท่ากับหรือต่ำกว่า 5 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร




ข้อบ่งชี้ของการใช้ยาลดกรดยูริคในเลือดสูง ได้แก่ มีข้ออักเสบกำเริบเป็น ๆ หาย ๆ บ่อยกว่า 2 ครั้งต่อปี มีข้ออักเสบเรื้อรัง มีปุ่มโทฟัส มีความผิดปกติทางภาพรังสีกระดูกและข้อซึ่งเข้าได้กับโรคเก๊าท์ มี uric acid nephropathy มีภาวะไตบกพร่องและมีความจำเป็นต้องได้รับยาขับปัสสาวะอย่างต่อเนื่อง

การเริ่มให้ยาลดกรดยูริคในเลือดจะทำภายหลังที่ข้ออักเสบหายสนิทแล้วเป็นเวลานาน 1-2 สัปดาห์ ผู้ป่วยที่ได้ยาลดกรดยูริคในเลือดอยู่และเกิดข้ออักเสบกำเริบขึ้น ก็ให้การรักษาข้ออักเสบตามแนวทางการรักษาในระยะข้ออักเสบเฉียบพลัน โดยคงขนาดของยาลดกรดยูริคในเลือดเท่าเดิม การให้ยาลดระดับกรดยูริคในเลือดควรเริ่มในขนาดต่ำก่อน แล้วค่อย ๆ ปรับขนาดยาเพิ่มขึ้นทุก 1-4 สัปดาห์ตามผลตอบสนองของระดับกรดยูริกในเลือดและผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น 

ยาลดกรดยูริคในเลือด ได้แก่

1.ยายับยั้งการสร้างกรดยูริค (Uricostatic agent) เช่น อัลโลพิวรีนอล (Allopurinol)

การรักษาจะเริ่มในขนาดต่ำก่อน คือ 50 – 100 มิลลิกรัมต่อวัน แล้วปรับเพิ่มขึ้นครั้งละ 50 – 100 มิลลิกรัมต่อวัน ทุก 1 – 4 สัปดาห์ จนสามารถควบคุมระดับกรดยูริคในเลือดได้ตามเป้าหมาย 

ขนาดยาสูงสุดที่ใช้คือ 900 มิลลิกรัมต่อวัน ยามีระยะครึ่งชีวิต (half life) ยาว ดังนั้นจึงสามารถให้ยาวันละครั้งได้ แต่ถ้าระดับกรดยูริคในเลือดยังไม่ถึงเป้าหมาย ก็อาจพิจารณาปรับเพิ่มขนาดยาสูงกว่าระดับที่แนะนำไว้ได้ แต่ควรเพิ่มครั้งละน้อย ๆ อย่างช้า ๆ พร้อมกับติดตามผลข้างเคียงของยาอย่างใกล้ชิด
2.ยาเร่งการขับกรดยูริกทางไต (Uricosuric agents) 
เช่น โปรเบเนซิด (probenecid) และ ซัลฟินไพราโซล (sulfinpyrazone

จะพิจารณาใช้ในผู้ป่วยที่มีปริมาณกรดยูริคในปัสสาวะน้อยกว่า 800 มิลลิกรัมต่อวัน; ผู้ป่วยที่มีข้อห้ามในการใช้ยาหรือมีประวัติแพ้ยา อัลโลพิวรีนอล; หรือใช้ร่วมกับอัลโลพิวรีนอล ในกรณีที่ใช้ยาอัลโลพิวรีนอลในขนาดเต็มที่แล้วยังไม่ได้ตามเป้าหมาย อย่างไรก็ตามทั้งโปรเบเนซิด และซัลฟินไพราโซล ต่างก็มีประสิทธิภาพในการลดระดับกรดยูริคในเลือดด้อยกว่าอัลโลพิวรีนอล

เนื่องจากยากลุ่มนี้เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดนิ่วกรดยูริคในทางเดินปัสสาวะได้ จึงไม่ควรใช้ในผู้ป่วยที่มีปริมาณกรดยูริคในปัสสาวะมากกว่า 1000 มิลลิกรัมต่อวัน รวมทั้งควรหลีกเลี่ยงในผู้ป่วยที่มีนิ่วในทางเดินปัสสาวะอยู่หรือเคยมีประวัติอดีตเป็นนิ่วในทางเดินปัสสาวะ ควรแนะนำให้ดื่มน้ำวันละมากกว่า 2 ลิตร(หากไม่มีข้อห้าม) หรือเปลี่ยนสภาวะความเป็นกรดของปัสสาวะให้เป็นด่างโดยให้โซดามิ้นท์  (sodamint)

1.ซัลฟินไพราโซล (Sulfinpyrazone

ไม่ควรใช้ในผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตบกพร่อง 

ขนาดการรักษาคือ 200-800 มิลลิกรัมต่อวัน แบ่งให้วันละ 2 ครั้ง โดยเริ่มด้วยขนาด 50 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้ง 

2.โปรเบเนซิด (Probenecid)

มีประสิทธิภาพด้อยกว่าซัลฟินไพราโซล (sulfinpyrazone) และมีประสิทธิภาพในการรักษาเฉพาะผู้ป่วยที่มีสมรรถภาพการทำงานไตปกติ

ขนาดที่ใช้ในการรักษาคือ 500-3000 มิลลิกรัมต่อวัน แบ่งให้วันละ 2 ครั้ง โดยเริ่มยาด้วยขนาด 250 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้ง 

3.เบนซ์โบรมาโรน (Benzbromarone)

มีประสิทธิภาพเทียบเท่าอัลโลพิวรีนอลและสูงกว่าโปรเบเนซิด นอกจากนี้ยังสามารถใช้ได้ในผู้ป่วยที่มีสมรรถภาพการทำงานไตบกพร่องเล็กน้อยจนถึงปานกลาง21 (CCr มากกว่าหรือเท่ากับ 20 มิลลิลิตรต่อนาที) รวมทั้งผู้ป่วยเปลี่ยนถ่ายไต
ขนาดที่ใช้รักษาคือ 25 – 200 มิลลิกรัมต่อวัน วันละครั้ง 

ผลข้างเคียงได้แก่ ท้องเสียไม่รุนแรง แต่ผลข้างเคียงที่สำคัญ คือ แต่ผลข้างเคียงที่สำคัญ คือ hepatic necrosis แม้จะพบเพียง 1 ใน 17000 ราย แต่ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต

ดังนั้น จึงควรติดตามค่าการทำงานของตับอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะในช่วง 6 เดือนแรกหลังจากที่ได้รับยาชนิดนี้ 

3.ยาอื่น ๆ

มีการศึกษาว่ายาที่ใช้รักษาโรคอื่นๆบางชนิดมีฤทธิ์ช่วยลดระดับกรดยูริคในเลือดลงได้ เช่น ยา ลอซาร์แทน(losartan) ซึ่งเป็นยาลดความดันโลหิตและฟีโนไฟเบรท(fenofibrate) ซึ่งเป็นยาลดไขมันในเลือด ต่างก็มีฤทธิ์เร่งการขับกรดยูริกทางไตได้ จึงอาจพิจารณายาเหล่านี้ในผู้ป่วยโรคเก๊าท์ที่มีความดันโลหิตสูงหรือไขมันในเลือดสูงร่วมด้วย

การให้ยาลดกรดยูริกมากกว่าหนึ่งชนิดร่วมกัน
ในกรณีที่ใช้ยาลดกรดยูริคในเลือดชนิดหนึ่งอยู่แล้ว แต่ยังไม่สามารถลดกรดยูริคในเลือดลงมาจนถึงระดับเป้าหมาย อาจพิจารณายาลดกรดยูริคในเลือดอีกชนิดหนึ่งที่มีกลไกการออกฤทธิ์แตกต่างกันมาใช้ร่วมกัน เช่น ใช้ยาอัลโลพิวรีนอลร่วมกับยาชนิดใดชนิดหนึ่งในกลุ่มเร่งการขับกรดยูริคทางไต เช่น โปรเบเนซิด, เบนซ์โบรมาโรน และซัลฟินไพราโซล 
การป้องกันการกำเริบซ้ำ
ผู้ป่วยโรคเก๊าท์ซึ่งได้รับการรักษาด้วยยาลดกรดยูริคในระยะแรกอาจมีข้ออักเสบกำเริบบ่อยขึ้น จึงควรพิจารณาให้ยาโึคลชิซีน   0.6 –1.2 มิลลิกรัมต่อวัน ร่วมกับยาลดกรดยูริคในเลือดเพื่อป้องกันการกำเริบซ้ำ และควรให้ยาโึคลชิซีน   ไปจนกระทั่งไม่มีข้ออักเสบเป็นระยะเวลานานอย่างน้อย 6 เดือน ในผู้ป่วยที่ไม่สามารถทนผลข้างเคียงของโึคลชิซีนได้อาจพิจารณาเลือกใช้ NSAIDs หรือ coxib หรือสเตียรอยด์ในขนาดต่ำแทนถ้าไม่มีข้อห้ามใช้
การติดตามระดับกรดยูริคในเลือด
ในระหว่างปรับขนาดยาลดกรดยูริคในเลือด นอกจากจะประเมินผลการรักษาจากอาการทางคลินิกแล้ว ควรตรวจระดับกรดยูริกในเลือดทุก 1-4 สัปดาห์ จนกว่าระดับกรดยูริคในเลือดจะลดลงได้ตามเป้าหมาย หลังจากนั้นอาจประเมินห่างออกเป็นทุก 3-6 เดือน รวมทั้งติดตามค่าการทำงานของไตและตับเป็นระยะ ๆ
การหยุดการรักษา
แนวทางเวชปฏิบัติส่วนใหญ่ แนะนำให้รับประทานยาลดระดับกรดยูริคในเลือดตลอดชีวิต แต่อาจพิจารณาลดหรือหยุดยาในผู้ป่วยที่มีระดับกรดยูริคในเลือดลดลงได้ตามเป้าหมายโดยที่ไม่มีโทฟัสและไม่เกิดข้ออักเสบขึ้นอีกเลยเป็นเวลานานหลายปี แต่ถ้าเกิดการกำเริบข้ออักเสบเฉียบพลันหรือเริ่มเกิดโทฟัสขึ้นอีก ก็สามารถกลับมาเริ่มยาลดกรดยูริกในเลือดใหม่ได้
การรักษาโดยวิธีไม่ใช้ยา (Non-pharmacological therapy)
- การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเกี่ยวกับอาหารและเครื่องดื่ม

  • ลดการรับประทานเนื้อสัตว์ที่มีสารพิวรีน (purine) สูง เช่น อาหารทะเล หอย เนื้อแดงสัตว์ปีก เครื่องในสัตว์ และยีสต์
  • ลดผลไม้รสหวาน และเครื่องดื่มที่ผสมน้ำตาลฟรุกโตส
  • ลดการดื่มสุรา (โดยเฉพาะเบียร์)
  • มีข้อมูลว่าการรับประทานวิตามินซี 500 มิลลิกรัมต่อวัน จะช่วยลดระดับกรดยูริกในเลือดลงได้บ้าง แต่ควรระมัดระวังการใช้ในระยะยาว เนื่องจากอาจทำให้เกิดนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะตามมาได้ - รักษาโรคร่วมและลดปัจจัยเสี่ยงของโรคเก๊าท์
- ควรให้การรักษาโรคร่วมและปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เช่น 
  • รักษาภาวะไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง น้ำตาลในเลือดสูง ความอ้วน การสูบบุหรี่ และโรคหลอดเลือดหัวใจ
  • ลดน้ำหนักในผู้ป่วยที่มีน้ำหนักเกินหรืออ้วน การลดน้ำหนักควรลดแบบช้า ๆ โดยตั้งเป้าหมายไว้ที่น้ำหนักในอุดมคติ (ideal body weight) แต่การลดน้ำหนักอย่างรวดเร็วเกินไปอาจทำให้ระดับกรดยูริคในเลือดสูงขึ้นและทำให้เกิดข้ออักเสบกำเริบตามมาได้
  • ในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งได้รับการรักษาด้วยยาขับปัสสาวะอยู่ เช่น ไฮโดรคลอโรไทอะไซด์(hydrochlorothiazide) ควรเปลี่ยนยาขับปัสสาวะเป็นยาลดความดันโลหิตชนิดอื่นที่ไม่มีผลต่อระดับกรดยูริคในเลือด แต่ผู้ป่วยซึ่งมีโรคหรือภาวะที่จำเป็นต้องใช้ยาขับปัสสาวะ ก็ไม่ต้องหยุดยาขับปัสสาวะ 
  • ผู้ป่วยที่มีประวัตินิ่วในทางเดินปัสสาวะ (ที่ไม่มีข้อห้าม) ควรแนะนำให้ดื่มน้ำวันละมากกว่า 2 ลิตร 
  • หลีกเลี่ยงอุบัติเหตุต่อข้อ หรือการออกกำลังกายอย่างหักโหม (intense physical exercise) เนื่องจากจะทำให้ข้ออักเสบกำเริบขึ้น ควรออกกำลังกายในระดับปานกลาง
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การรักษาควรอยู่ในการควบคุมของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อความปลอดภัยและประสิทธิภาพในการรักษาที่ดีนะคะ ^ ^


Thank;

http://nutrition.anamai.moph.go.th
http://thairheumatology.org
http://www.vichaiyut.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น